กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้อย่างยั่งยืนรายวิชา 0042007

Office of General Education Mahasarakham University

เมื่อวันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักศึกษาทั่วไป ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดโครงการสนับสนุนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้อย่างยั่งยืนผ่านรายวิชา 0042007 การเรียนร่วม สหวิชาชีพเพื่อสุขภาพชุมชน ในการจัดกิจกรรมเรียนรู้ด้านสุขภาพในชุมชน “พ่อฮักแม่ฮัก” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ.ชนัตถา พลอยเลื่อมแสง คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันของการบริการสาธารณสุขในประเทศไทย ที่มีความพยายามในการพัฒนาทั้งด้านบริหารจัดการและด้านบริการ มีการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยมาใช้มากขึ้น แต่ก็ยังประสบปัญหาความแออัดของผู้รับบริการ ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์แต่ละสาขามีอยู่อย่างจำกัด ทำให้เกิดความล่าช้า คุณภาพบริการไม่ดีพอ นอกจากนี้ข้อมูลด้านสุขภาพของประเทศไทยยังพบว่าจำนวนของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และประชากรสูงอายุเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จึงจำเป็นที่ต้องมีการปรับรูปแบบการบริการให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาสุขภาพของคนไทยให้มากขึ้น การดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพของประเทศไทย เพราะเน้นการดูแลแบบองค์รวม INHOMESSS เป็นเครื่องมือที่มีบทบาทสำคัญที่ใช้ในการประเมินผู้ป่วยแบบองค์รวม เช่น การประเมินกิจวัตรประจำวัน เช่นการอาบน้ำ การเคลื่อนย้าย การประเมินลักษณะอาหาร ชนิดของอาหาร อาหารที่รับประทานว่าเหมาะกับโรคหรือสภาวะที่เป็นอยู่ การประเมินสภาพบ้านครอบครัวที่นิสิตดูแล การประเมินดูเพื่อนบ้านของครอบครัวที่นิสิตดูแล ความสัมพันธ์เป็นอย่างไร เมื่อผู้ป่วยที่เราดูแลมีปัญหามีการช่วยเหลืออย่างไร การประเมินวิธีใช้ยา ผู้ป่วยกินยาสม่ำเสมอหรือไม่ ภาชนะที่บรรจุยามีความสม่ำเสมอหรือไม่ ประเมินจากการสอบถามความผิดปกติของร่างกายการประเมินบริการอะไรบ้างที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยภายในครอบครัวหรือในชุมชนได้ เช่น อสม รพ.ตำบลการประเมินสภาพบ้านของผู้ป่วย ตัวบ้าน เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์อำนวยความสะดวก ตลอดจนการประเมินในเรื่องของการค้นหาความหมาย วัตถุประสงค์และความจริงในชีวิต เมื่อผู้ป่วยจำเป็นต้องผ่าตัดอาจต้องเตรียมการใช้เลือดของผู้ป่วยเองเมื่อจำเป็น เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้บัณฑิตมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานสหวิชาชีพ หลักการเวชศาสตร์ครอบครัว การจัดการสิ่งแวดล้อม การดูแลสุขภาพชุมชนแบบองค์รวม และมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในการทำงานแบบสหวิชาชีพ เพื่อให้มีทักษะชีวิต สามารถนำองค์ความรู้ไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม ตามที่สำนักศึกษาทั่วไปได้เปิดการเรียนการสอนรายวิชา 0042007 การเรียนร่วมสหวิชาชีพเพื่อสุขภาพชุมชน ในภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2565 ซึ่งในรายวิชาได้มีการออกแบบให้มีกิจกรรมเรียนรู้เกี่ยวกับชุมชน โดยการแบ่งกลุ่มสำรวจเรียนรู้เกี่ยวกับชุมชน (ลงเยี่ยมบ้าน) เพื่อสอบถามปัญหาสุขภาพของบุคคลในชุมชน เพื่อนำมาวิเคราะห์ปัญหาด้านสุขภาพ และการให้ความรู้เพื่อการแก้ปัญหาด้านสุขภาพของบุคคลในชุมชน จึงกำหนดโครงการสนับสนุนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้อย่างยั่งยืนผ่านรายวิชา 0042007 การเรียนร่วมสหวิชาชีพเพื่อสุขภาพชุมชน ในการจัดกิจกรรมเรียนรู้ด้านสุขภาพในชุมชน “พ่อฮักแม่ฮัก” โดยแบ่งระยะการจัดโครงการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การเตรียมความพร้อมสำหรับการเยี่ยมบ้าน ในวันเสาร์ ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 และระยะที่ 2 การเยี่ยมบ้านเพื่อการแก้ปัญหาด้านสุขภาพของบุคคลในชุมชน ในวันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 วัตถุประสงค์ 1. เพื่อให้นิสิตสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้มีสุขภาพและการดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2. เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้ผู้เรียนเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างนวัตกรรม เป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และทำงานแบบสหวิชาชีพได้ โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย นิสิต จำนวน 325 คน อาจารย์ บุคลากร และผู้ประสานงานโครงการ จำนวน 25 คน

ภาพ/ข่าว : มานะ ภูพันนา